อังคุตตรนิกาย

ทุติยปัณณาสก์

มหาวรรคที่ ๑

6.55. ๑. โสณสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ ใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้น ท่านพระโสณะอยู่ที่ป่าชื่อ สีตะวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ครั้งนั้น ท่านพระโสณะหลีก ออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเหล่าใดเหล่าหนึ่ง

เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนสาวกเหล่านั้น ก็แต่ว่าจิตของเรายังไม่หลุด พ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ก็โภคทรัพย์ย่อมมีอยู่ในสกุลของเรา เราอาจเพื่อใช้สอยโภคทรัพย์ และทำบุญได้ ผิฉะนั้น เราพึงบอกคืนสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์และพึงทำบุญ เถิด ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบปริวิตกแห่งใจของท่านพระโสณะด้วยพระทัย แล้วทรงหาย จากภูเขาคิชฌกูฏ ไปปรากฏตรงหน้าท่านพระโสณะที่ป่าสีตะวัน เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึง เหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูแล้ว แม้ท่าน พระโสณะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มี พระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะว่า ดูกรโสณะ เธอหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดปริวิตก แห่งใจอย่างนี้มิใช่หรือว่า สาวกของพระผู้มีพระภาคเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ปรารภความเพียร อยู่ เราก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนสาวกเหล่านั้น ก็แต่ว่าจิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะ ไม่ถือมั่น ก็โภคทรัพย์ย่อมมีอยู่ในสกุลของเราเราอาจเพื่อใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้

มิฉะนั้น เราพึงบอกคืนสิกขาสึกมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์ และพึงทำบุญเถิด ท่านพระโสณะทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเมื่อก่อนยังอยู่ครองเรือน เป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณมิใช่หรือ ฯ

ส. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ก็สมัยใดสายพิณของเธอตึงเกิน ไป สมัยนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะหรือ ย่อมควรแก่การใช้หรือไม่ ฯ

ส. ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมัยใดสายพิณของเธอหย่อนเกิน ไป สมัยนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควรแก่การใช้หรือไม่ ฯ

ส. ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ ก็สมัยใด สายพิณของเธอไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ ในขนาดกลาง สมัยนั้น พิณของเธอย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควรแก่การใช้หรือไม่ ฯ

ส. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรโสณะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเพียรที่ปรารภมากเกินไปย่อมเป็นไป เพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ดูกรโสณะ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอจงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือ นิมิตในความสม่ำเสมอนั้น ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงกล่าวสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทนี้ แล้วทรงหายจากป่าสีตวันไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌ กูฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ฯ

ครั้นสมัยต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ ได้ตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ

และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้นต่อมา ท่านพระโสณะหลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจแน่วแน่อยู่ ได้ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลาย ผู้ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ต่อกาลไม่นานเลย ได้ทราบ ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ก็แลท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย ครั้งนั้น

ท่านพระโสณะบรรลุอรหัตแล้ว ได้คิดอย่างนี้ว่าไฉนหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ แล้วพึงพยากรณ์อรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคเถิด ลำดับนั้น ท่านพระโสณะได้เข้าไป เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ได้ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ของตนแล้ว หมดสิ้นกิเลสเครื่อง

ประกอบในภพ หลุดพ้นเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้น้อมไปยังเหตุ ๖ ประการ คือ เป็นผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ ๑ เป็นผู้น้อมไปยังความสงัด ๑ เป็นผู้น้อมไปยังความไม่เบียดเบียน ๑ เป็นผู้น้อมไปยังความสิ้นตัณหา ๑ เป็นผู้น้อมไปยังความสิ้นอุปาทาน ๑ เป็นผู้น้อมไปยังความ ไม่หลงใหล ๑ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านผู้มีอายุบางรูปในธรรมวินัยนี้พึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุรูปนี้ อาศัยคุณเพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ เป็นผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ แต่ข้อนั้น ไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะว่าภิกษุขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ได้ทำกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ไม่พิจารณาเห็นกิจที่ตนจะต้องทำหรือไม่พิจารณาเห็นการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้วอยู่ ย่อมเป็นผู้ น้อมไปยังเนกขัมมะเพราะสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นโทสะ เพราะเป็นผู้ ปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโมหะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านผู้มีอายุบางรูปในธรรมวินัยนี้พึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุรูปนี้ มุ่งหวังลาภ สักการะและการสรรเสริญเป็นแน่จึงน้อมไปยังความสงัด แต่ข้อ นั้นไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะว่าภิกษุขีณาสพ อยู่พรหมจรรย์ได้ทำกิจที่ควรเสร็จแล้ว ไม่พิจารณา เห็นกิจที่ตนจะต้องทำ หรือไม่พิจารณาเห็นการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้วอยู่ ย่อมเป็นผู้น้อมไปยังความ สงัด เพราะสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้นโทสะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโมหะเพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านผู้มีอายุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุรูปนี้ ละสีลัพพัตตปรามาส กลับให้เป็นแก่นสารเป็นแน่จึงเป็นผู้น้อมไปยัง ความไม่เบียดเบียน แต่ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะว่าภิกษุขีณาสพ ฯลฯ เป็นผู้น้อมไป ยังความไม่เบียดเบียน เพราะสิ้นโมหะเพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อมไป ยังความสิ้นตัณหา เพราะสิ้นโมหะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯลฯ ย่อมเป็นผู้น้อมไปยัง ความสิ้นอุปาทานเพราะสิ้นโมหะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ท่านผู้มีอายุบางรูปในธรรมวินัยนี้พึงมีความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุรูปนี้ ละสีลัพพัตตปรามาสกลับให้เป็นแก่นสารเป็นแน่จึงเป็นผู้น้อมไปยังความไม่ หลงใหล แต่ข้อนั้นไม่พึงเห็นอย่างนี้ เพราะว่าภิกษุขีณาสพอยู่จบพรหมจรรย์ ได้ทำกิจที่ควรทำ เสร็จแล้ว ไม่พิจารณาเห็นในกิจที่ตนจะต้องทำ หรือไม่พิจารณาเห็นการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้วอยู่

ย่อมเป็นผู้น้อมไปยังความไม่หลงใหล เพราะสิ้นราคะ เพราะเป็นผู้ปราศจากราคะ เพราะสิ้น โทสะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโมหะ เพราะเป็นผู้ปราศจากโมหะ ฯ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ารูปที่พึงเห็นแจ้งด้วยจักษุแม้ดีเยี่ยมมาสู่คลองจักษุของภิกษุผู้ มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ไซร้ รูปนั้นไม่ครอบงำจิตของท่านได้จิตของท่านย่อมเป็นจิต ไม่เจือด้วยกิเลส เป็นจิตตั้งมั่น ถึงความไม่หวั่นไหวและท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและ ความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู ฯลฯ กลิ่นที่พึงรู้แจ้ง ด้วยจมูก ฯลฯ รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย ฯลฯ ธรรมารมณ์ ที่พึงรู้แจ้งด้วยใจ แม้ดีเยี่ยม มาสู่คลองจักษุแห่งภิกษุ ผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ไซร้ ธรรมารมณ์นั้นย่อมไม่ครอบงำจิตของท่านได้ จิตของท่านย่อมเป็นจิตไม่เจือด้วยกิเลส เป็นจิต ตั้งมั่นถึงความไม่หวั่นไหว และท่านพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น เปรียบ เหมือนภูเขาศิลาที่ไม่มีช่อง ไม่มีโพรงเป็นแท่งทึบ ถึงแม้ลมฝนอันแรงกล้าพึงพัดมาจากทิศ บูรพาไซร้ ก็ไม่พึงยังภูเขาศิลานั้นให้หวั่นไหว ให้สะเทือนสะท้านได้ ถึงแม้ลมฝนอันแรงกล้า พึงพัดมาจากทิศประจิมฯลฯ พึงพัดมาจากทิศอุดร ฯลฯ พึงพัดมาจากทิศทักษิณไซร้ ก็ไม่พึง ยังภูเขาศิลานั้นให้หวั่นไหว ให้สะเทือนสะท้านได้ ฉะนั้น ฯ

ท่านพระโสณะครั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาประพันธ์ดังต่อไปอีกว่า จิตของภิกษุผู้น้อมไปยังเนกขัมมะ ผู้น้อมไปยังความสงัดแห่งใจ ผู้น้อม ไปยังความไม่เบียดเบียน ผู้น้อมไปยังความสิ้นตัณหา ผู้น้อมไปยังความ สิ้นอุปาทาน และผู้น้อมไปยังความไม่หลงใหลแห่งใจ ย่อมหลุดพ้นโดย ชอบเพราะเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งอายตนะทั้งหลาย กิจที่ ควรทำและการเพิ่มพูนกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้นผู้หลุดพ้นแล้วโดย ชอบมีจิตสงบ ภูเขาศิลาเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลม ฉันใด รูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็น อิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ย่อมยังจิตอันตั้งมั่นหลุดพ้นวิเศษแล้ว ของภิกษุผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ฉันนั้นและภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็น ความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแห่งจิตนั้น ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๑