อังคุตตรนิกาย
7.53. มาตาสูตร
สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะจาริกไปในทักษิณาคีรีชนบท
พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ก็สมัยนั้นแล นันทมารดาอุบาสิกา ชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้น ในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชมีกรณียกิจ บางอย่าง เสด็จจากทิศอุดรไปยังทิศทักษิณ ได้ทรงสดับนันทมารดาอุบาสิกาสวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะประทับรอฟังจนจบ ขณะนั้น นันทมารดาอุบาสิกา สวดปารายนสูตรทำนอง สรภัญญะจบแล้วนิ่งอยู่ ท้าวเวสสวัณมหาราชทรงทราบว่า กถาของนันทมารดาอุบาสิกาจบแล้ว
จึงทรงอนุโมทนาว่า สาธุ น้องหญิง สาธุ น้องหญิง นันทมารดาอุบาสิกาถามว่า ดูกรท่านผู้มี พักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ฯ
เว. ดูกรน้องหญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ ฯ
น. ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละ ถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ เป็นเครื่องต้อนรับแด่ท่าน ฯ
เว. ดูกรน้องหญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับแก่ฉันพรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระ สารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึงเวฬุกัณฏกนคร เธอพึง อังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้ จักเป็นเครื่องต้อนรับ ฉัน ฯ
ลำดับนั้น ครั้นล่วงราตรีนั้นไป นันทมารดาอุบาสิกาสั่งบุรุษผู้หนึ่ง ให้จัดแจงขาทนีย โภชนียาหารอันประณีตไว้ในนิเวศน์ของตน ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหา โมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า เดินทางมาถึงเวฬุกัณฏกนคร นันทมารดาอุบาสิกาจึงเรียก บุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ มาเถิดท่าน จงไปยังอาราม บอกภัตตกาลแด่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ กาลนี้เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของแม่เจ้า นันทมารดาสำเร็จแล้ว บุรุษนั้น รับคำนันทมารดาอุบาสิกาแล้ว ไปยังอาราม บอกภัตตกาลแก่ภิกษุสงฆ์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กาลนี้ เป็นภัตตกาล ภัตตาหารในนิเวศน์ของแม่เจ้านันทมารดาสำเร็จแล้ว ครั้งนั้น เวลาเช้า ภิกษุ สงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไป ยังนิเวศน์ของนันทมารดาอุบาสิกา นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดไว้ ลำดับนั้น นันทมารดาอุบาสิกา อังคาสภิกษุสงฆ์ มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีต ด้วยมือของตน ครั้นทราบว่าท่านพระสารีบุตรฉันเสร็จ ลดมือลงจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามว่า ดูกร นันทมารดา ใครบอกกาลมาถึงของภิกษุสงฆ์แก่ท่านเล่า นันทมารดาอุบาสิกากราบเรียนว่า ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ขอโอกาสเจ้าค่ะ ดิฉันลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตรทำนองสรภัญญะจบ แล้วนิ่งอยู่ ลำดับนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราชทราบถึงการจบคาถาของดิฉันแล้วทรงอนุโมทนาว่า
สาธุ น้องหญิง สาธุ น้องหญิง ดิฉันถามว่า ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ท่านนี้คือใครเล่า ท้าวเวสสวัณตอบว่า ดูกรน้องหญิง เราคือท้าวเวสสวัณมหาราช ภาดาของเธอ ดิฉันกล่าวว่า
ดูกรท่านผู้มีพักตร์อันเจริญ ดีละถ้าเช่นนั้น ขอธรรมบรรยายที่ดิฉันสวดแล้วนี้ จงเป็นเครื่อง ต้อนรับแด่ท่าน ท้าวเวสสวัณกล่าวว่า ดูกรน้องหญิง ดีแล้ว นั่นจงเป็นเครื่องต้อนรับฉันด้วย พรุ่งนี้ ภิกษุสงฆ์มีท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ยังไม่ได้ฉันเช้า จักมาถึง เวฬุกัณฏกนคร เธอพึงอังคาสภิกษุสงฆ์หมู่นั้น แล้วพึงอุทิศทักษิณาทานให้ฉันด้วย ก็การทำอย่างนี้
จักเป็นเครื่องต้อนรับฉัน ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กิจที่นับว่าเป็นบุญในทานทั้งนี้ จงเป็นไปเพื่อความ สุขแด่ท้าวเวสสวัณมหาราชเถิด ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้วที่ท่านเจรจากันต่อ หน้าได้กับท้าวเวสสวัณมหาราช ซึ่งเป็นเทพบุตรผู้มีฤทธิ์มีศักดิ์มากอย่างนี้ ฯ
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันมีบุตรน้อย อยู่คนหนึ่งชื่อนันทะ เป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจพระราชาได้ข่มขี่ปลงเธอเสียจากชีวิตในเพราะเหตุ เพียงนิหน่อย ข้าแต่ท่านผู้เจริญเมื่อบุตรของดิฉันนั้น ถูกจับแล้วก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังถูกจับก็ดี ถูกฆ่าแล้วก็ดี กำลังจะถูกฆ่าก็ดี ถูกประหารแล้วก็ดี กำลังจะถูกประหารก็ดี ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเลย ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้ เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรม ของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกข้าแต่ท่านผู้เจริญ สามีของดิฉันกระทำ กาละแล้ว เกิดเป็นยักษ์ตนหนึ่ง มาแสดงตนแก่ดิฉันด้วยรูปร่างอย่างครั้งก่อนนั้นทีเดียว ข้าแต่ ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่รู้สึกความเปลี่ยนแปลงแห่งจิตเพราะข้อนั้นเป็นเหตุเลย ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้ เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้วมิใช่เพียงเท่านี้ ธรรม ของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันยังสาวถูกส่งตัว มาให้แก่สามีหนุ่ม ไม่เคยคิดที่จะนอกใจเลย ไฉนจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้ เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรม ของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อดิฉันแสดงตน เป็นอุบาสิกาแล้ว ไม่รู้สึกว่าได้แกล้งล่วงสิกขาบทอะไรๆ เลย ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ที่ท่านชำระแม้ เพียงจิตตุปบาทให้บริสุทธิ์ ฯ
น. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรม ของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีกข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันหวังอยู่เพียงใด
ดิฉันสงัดจากกาม สงัดอกุศลธรรมเข้าปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะ วิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดจากสมาธิอยู่ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวย สุขด้วย นามกาย เพราะปีติสิ้นไป เข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่าผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มี อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข เข้าจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขเพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่เพียงนั้น ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ฯ
น. ข้าแต่ท่านเจริญ ธรรมดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว มิใช่เพียงเท่านี้ ธรรม ของดิฉันน่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาแล้ว แม้ข้ออื่นยังมีอีก ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันไม่พิจารณาเห็น โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วบางข้อ ที่ยังละไม่ได้ในตน ฯ
สา. ดูกรนันทมารดา น่าอัศจรรย์ ดูกรนันทมารดา ไม่เคยมีมาแล้ว ฯ
ลำดับนั้นแล ท่านพระสารีบุตรชี้แจงให้นันทมารดาอุบาสิกาเห็นแจ้ง ให้สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบมหายัญญวรรคที่ ๕
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จิตตสูตร ๒. ปริกขารสูตร ๓. อัคคิสูตรที่ ๑ ๔. อัคคิสูตรที่ ๒ ๕. สัญญาสูตรที่ ๑ ๖. สัญญาสูตรที่ ๒ ๗. เมถุนสูตร ๘. สังโยคสูตร ๙. ทานสูตร ๑๐. มาตาสูตร
จบปัณณาสก์