ทีฆนิกาย
ปาฏิกวรรค
๒๕ อุทุมพริกสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น นิโครธปริพาชกอาศัยอยู่ในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา พร้อมด้วยปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่ ประมาณ ๓,๐๐๐ ครั้งนั้น สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่ายวันหนึ่งเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค สันธานคฤหบดีดำริว่า เวลานี้ยังไม่เป็นเวลาอันสมควรเพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคก่อน พระผู้มีพระภาคยังกำลังทรงหลีกเร้นอยู่ แม้ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจ ก็ไม่ใช่สมัยที่จะพบภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจก็ยังหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปหานิโครธปริพาชกยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา จึงเข้าไป ณ ที่นั้น ฯ
สมัยนั้น นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับปริพาชกบริษัทหมู่ใหญ่กำลังสนทนาติรัจฉานกถาต่างเรื่อง ด้วยเสียงดั่งลั่นอึกทึก คือพูดเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อมด้วยประการนั้นๆ พอนิโครธปริพาชกได้เห็น สันธานคฤหบดีมาแต่ไกล จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก สันธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังมา สาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งผ้าขาวมีประมาณเท่าใด อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ บรรดาสาวกเหล่านั้น สันธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง ท่านเหล่านั้นชอบเสียงเบาและกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีสันธานคฤหบดีนี้ทราบว่า บริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเข้ามาก็ได้ เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ
ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับนิโครธปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้เจริญเหล่านี้ มาพบ มาประชุมพร้อมกันแล้วมีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่องอยู่โดยประการอื่นแล คือขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ ด้วยประการนั้นๆ ส่วนพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงเสพราวไพรในป่าเสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลม แต่ชนผู้เดินเข้าออกสมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้นโดยประการอื่นแล เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใคร จะถึงการสนทนาด้วยใคร จะถึงความเป็นผู้ฉลาดด้วยพระปัญญากว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดม ฉิบหายเสียในเรือนอันสงัด พระสมณโคดมไม่กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายใน ฉะนั้น เอาเถิด คฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้าพึงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจักพึงบีบรัดพระองค์ท่านเหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับการเจรจาของสันธานคฤหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ ด้วยพระทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏ แล้วเสด็จเข้าไปยังที่ให้เหยื่อแก่นกยูงที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา ครั้นแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พอนิโครธปริพาชกได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงห้ามบริษัทของตนให้สงบว่า ขอท่านทั้งหลายเบาๆ เสียงหน่อย อย่าส่งเสียงอึงนัก พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์ท่านโปรดเสียงเบาและกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางทีพระองค์ ท่านทรงทราบว่า บริษัทนี้มีเสียงเบาแล้ว พึงสำคัญที่จะเสด็จเข้ามาก็ได้ ถ้าว่าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ เราจะพึงทูลถามปัญหากะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำพระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไร สำหรับรู้แจ้งชัดอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำ แล้วถึงความยินดีเมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่แล้ว นิโครธปริพาชกจึงกราบทูลเชิญพระผู้มีพระภาคว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิดพระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะมีโอกาสเสด็จมาที่นี่ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ ฝ่ายนิโครธปริพาชกถือเอาอาสนะต่ำแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาครับสั่งถามนิโครธปริพาชกว่า ดูกรนิโครธะ บัดนี้ พวกท่านนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรเล่าที่พวกท่านสนทนาค้างอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาค ตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ ที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝั่งสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่าพระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ไซร้ พวกเราจะพึงถามปัญหานี้กะพระองค์ท่านว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำ พระสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไรสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้วถึงความยินดี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เรื่องนี้แล ที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างอยู่ พอดีพระองค์เสด็จมาถึง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การที่ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความพยายาม ไม่มีลัทธิอาจารย์ ยากที่จะรู้ธรรมที่เราแนะนำพระสาวก ยากที่จะรู้ธรรมสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่เราแนะนำ แล้วถึงความยินดี เชิญเถิดนิโครธะ ท่านจงถามปัญหาในการหน่ายบาปอย่างยิ่ง ในลัทธิอาจารย์ของตนกะเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์ มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์มีอย่างไร เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้เป็นผู้มีเสียงดังลั่นอึกทึกขึ้นว่า อัศจรรย์นัก ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมา ท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก พระองค์จักหยุดวาทะของพระองค์ไว้ จักปวารณาด้วยวาทะของผู้อื่น ฯ
ครั้งนั้น นิโครธปริพาชกห้ามพวกปริพาชกเหล่านั้นให้เบาเสียงแล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์แล กล่าวการหน่ายปาปด้วยตบะ ติดการหน่ายบาปด้วยตบะอยู่ การหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์มีอย่างไรหนอแล ที่ไม่บริบูรณ์มีอย่างไร ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นคนเปลือย ไร้มรรยาท เลียมือ เขาเชิญให้รับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขานำมาไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์เขา ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมครกนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมสากนำมา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้นำมา ไม่รับภิกษาของคน ๒ คน ที่กำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กำลังให้ลูกดื่มนม ไม่รับภิกษาที่เขานัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ซึ่งสุนัขได้รับเลี้ยงดู ไม่รับในที่แมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ภิกษา ไม่ดื่มยาดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วย ข้าว ๒ คำบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง ๒ ใบบ้าง ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่มีระหว่างเว้นวันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมา มีระหว่างเว้นตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้บ้าง เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางหรือสาหร่ายเป็นภักษาบ้างมีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นเอง เยียวยาอัตภาพ เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้างหนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืนคือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง สำเร็จการนอนบนแผ่นกระดานบ้าง สำเร็จการนอนบนเนินดินบ้าง เป็นผู้นอนตะแคงข้างเดียวบ้าง เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีบ้าง เป็นผู้อยู่กลางแจ้งบ้าง เป็นผู้นั่งบนอาสนะตามที่ลาดไว้บ้าง เป็นผู้บริโภคคูถ คือประกอบความขวนขวายในการบริโภคคูถบ้าง เป็นผู้ห้ามน้ำเย็น คือขวนขวายในการห้ามน้ำเย็นบ้าง เป็นผู้อาบน้ำ วันละ ๓ ครั้ง คือประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะเป็นการหน่ายบริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะเป็นการหน่ายบริบูรณ์หามิได้ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้แล ฯ
นิโครธปริพาชกทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสอุปกิเลสมากอย่างในการหน่ายบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์แล้วอย่างนี้ อย่างไรเล่า ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้นนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ เมา ลืมสติ ถึงความเมาด้วยตบะนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภ สักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น ด้วยสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น ยกตนข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้นนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่ บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความเมาด้วย ลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เมา ลืมสติ ถึงความเมา ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ ย่อมถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขามุ่งละสิ่งนั้นเสีย แต่ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขากำหนัด ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ ด้วยคิดว่า พระราชามหาอำมาตย์ของพระราชากษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเป็นผู้รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นแต่ที่ไหนๆ ว่า ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือพืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผลพืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจำกันได้ด้วยวาทะว่าเป็นสมณะ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่เขาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาดำริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่างในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุ เศร้าหมอง เขาเป็นผู้ให้ความริษยาและความตระหนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้นั่งในที่เป็นทางที่คนแลเห็น แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเที่ยวแสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเสพโทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าควร กล่าวโทษที่ควรว่าไม่ควร เขาเป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ดังนี้ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเมื่อพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่ผ่อนตามปริยายซึ่งควรจะผ่อนตามอันมีอยู่ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มีความลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา กระด้าง ถือตัวจัด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไปสู่อำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก เป็นมิจฉาทิฐิ ประกอบด้วยทิฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลำทิฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ ฯ
ดูกรนิโครธะ ท่านจะพึงสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การหน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสหรือไม่เป็นอุปกิเลส ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การหน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่แท้ ไม่เป็นอุปกิเลสหามิได้ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยอุปกิเลส เหล่านี้มีครบทุกอย่าง ข้อนี้แล เป็นฐานะที่จะมีได้ จะป่วยกล่าวไปไยถึงอุปกิเลสเพียงบางข้อๆ ฯ
ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น … อย่างนี้เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่เมา ไม่ลืมสติ ย่อมไม่ถึงความเมา ด้วยตบะนั้น … อย่างนี้เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่มีความดำริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น … อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญ เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น … อย่างนี้ เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ ย่อมไม่ถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขาไม่มุ่งละสิ่งนั้นเสีย ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขาไม่กำหนัด ไม่ลืมสติ ไม่ติดสิ่งนั้น แลเห็นโทษ มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ แต่เขาไม่คิดว่า พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะไม่เป็นผู้รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ก็ไฉนผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ดเป็นที่ครบห้า ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจำกันได้ด้วยวาทะเป็นสมณะ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่เขาสักการะเคารพนับถือบูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาไม่ดำริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพนับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่างในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมอง เขาไม่ให้ความริษยาและความตระหนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลายดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้ไม่นั่งในที่เป็นทางที่คนแลเห็น อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมไม่เที่ยวแสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเรา กรรมแม้นี้อยู่ในตบะของเราอย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมไม่เสพโทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าไม่ควร กล่าวโทษที่ควรว่าควร เขาเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ ดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเมื่อพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมผ่อนตามปริยายซึ่งควรผ่อนตามอันมีอยู่อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่มักผูกโกรธ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ คำอื่นที่ควรกล่าวยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะไม่เป็นผู้มีความลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ถือตัวจัด ไม่เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไม่ไปสู่อำนาจแห่งความปรารถนาอันลามก ไม่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่ประกอบด้วยทิฐิอันดิ่งถึงที่สุด ไม่เป็นผู้ลูบคลำทิฐิเอง ไม่เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ง่าย อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น ฯ
ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะเหล่านี้บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่น หามิได้ ที่แท้เป็นกิริยาที่ถึงเสก็ดเท่านั้น ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่ายบาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาปด้วยตบะเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นผู้สังวรแล้ว ด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ
๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ
๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้ผู้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ
๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณไม่เป็นผู้ดีใจ ฯ
ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้สังวรแล้ว ด้วยสังวร ๔ ประการอย่างนี้ ดูกรนิโครธะ เพราะว่าบุคคลผู้มีตบะเป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขาเพราะเป็นผู้มีตบะ เขารักษายิ่งซึ่งศีลไม่เวียนมาเพื่อเพศอันเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในภูเขา ป่าช้า ป่าชัด ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัต เขากลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้จำเพาะหน้า เขาละความเพ่งเล็งในโลกเสียแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็ง ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่พยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้าย คือ พยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ได้ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ได้ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาได้ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจที่ทำให้ปัญญาถอยกำลัง มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่าในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เขามีใจประกอบด้วยกรุณาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่ง อยู่ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยกรุณาอันไพบูลย์ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เขามีใจประกอบด้วยมุทิตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยมุทิตาอันไพบูลย์ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ เขามีใจประกอบด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สามทิศที่สี่ก็เหมือนกันตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลกทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถานด้วยใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ
ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยความเพียรบริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่นหามิได้ ที่แท้เป็นกิริยาที่ถึงเปลือกเท่านั้น ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่ายบาปด้วยตบะเป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาปด้วยตบะเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน ฯลฯ ดูกรนิโครธะ เพราะว่าบุคคลผู้มีตบะเป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขา เพราะเป็นผู้มีตบะ เขารักษายิ่งซึ่งศีลไม่เวียนมาเพื่อเพศอันเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด ฯลฯ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจ ที่ทำให้ปัญญาถอยกำลัง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง ฯลฯ สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบ ชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏวิวัฏฏกัปเป็นอันมาก บ้างว่าในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้นมีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วได้มาเกิดในภพนี้ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ฯ
ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะบริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะการหน่ายบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่นหามิได้ ที่แท้เป็นกิริยาที่ถึงกะพี้เท่านั้น ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การหน่ายบาปด้วยตบะเป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคจงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการหน่ายบาปด้วยตบะเถิด ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ฯ
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การหน่ายบาปด้วยตบะบริสุทธิ์แน่แท้ ไม่บริสุทธิ์หามิได้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ การหน่ายบาปด้วยตบะเป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ดูกรนิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า ธรรมของพระผู้มีพระภาคสำหรับทรงแนะนำสาวกนั้นชื่ออะไร ธรรมชื่ออะไรสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิ พรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความยินดี ดูกรนิโครธะ ฐานะที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ดังนี้แล เป็นธรรมสำหรับเราแนะนำสาวก เป็นธรรมสำหรับรู้แจ้งชัด อาทิ พรหมจรรย์ อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งพระสาวกที่เราแนะนำแล้วถึงความยินดี
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้เป็นผู้มีเสียงดังลั่นอึกทึกว่า พวกเรากับอาจารย์ยังไม่เห็นในคัมภีร์ มีคัมภีร์อเจลกเป็นต้นนี้ พวกเรากับอาจารย์ยังไม่เห็นในบาลี มีบาลีอเจลกเป็นต้นนี้ พวกเรายังไม่รู้ชัดการบรรลุคุณวิเศษที่ยิ่งไปกว่านี้ ฯ
ในกาลที่สันธานคฤหบดีได้ทราบว่า บัดนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียร์ถีย์เหล่านี้ตั้งใจฟัง เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ถึงภาษิตของพระผู้มีพระภาคโดยแท้แล จึงได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า ดูกรท่านนิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเราอย่างนี้แลว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้ พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใครจะถึงการสนทนาด้วยใคร จะถึงความเป็นผู้ฉลาดด้วยพระปัญญากว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมฉิบหายเสียในเรือนอันสงัด พระสมณโคดมไม่กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท ไม่สามารถเพื่อจะทรงเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว อุปมาเหมือนแม่โคบอดเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน ฉะนั้น เอาเถิดคฤหบดี พระสมณโคดมพึงเสด็จมาสู่บริษัทนี้ พวกข้าพเจ้าพึงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะพึงบีบรัดพระองค์ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ดูกรท่านนิโครธะ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นเสด็จถึงแล้ว ณ ที่นี้ ก็พวกท่านจงทำพระองค์ท่านไม่ให้กล้าเสด็จเที่ยวไปในบริษัท จงทำให้เป็นเหมือนแม่โคบอด เที่ยววนเวียน จงสนทนากะพระองค์ท่านด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น เห็นจะบีบรัดพระองค์ท่าน เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชก เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ ฯ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบซึ่งนิโครธปริพาชกเป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ จึงตรัสกะนิโครธปริพาชกว่า ดูกรนิโครธะ วาจานี้ท่านกล่าวจริง หรือนิโครธปริพาชกทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วาจานี้ข้าพระองค์กล่าวจริง ด้วยความเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านเคยได้ยินปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่ากระไร พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น ประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่องอยู่ คือ ขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนท่านกับอาจารย์ในบัดนี้ อย่างนี้หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทรงเสพราวไพรในป่าเสนาสนะอันสงัด ซึ่งมีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก สมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับแห่งมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราในบัดนี้ นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เคยได้ยินปริพาชก ผู้เฒ่า ผู้แก่ เป็นอาจารย์และปาจารย์กล่าวว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคทั้งหลายนั้นประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายติรัจฉานกถาต่างเรื่อง อยู่อย่างนี้ คือ ขวนขวายเรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนข้าพระองค์กับอาจารย์ในบัดนี้ อย่างนี้หามิได้ พระผู้มีพระภาคทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย ปราศจากลมแต่ชนผู้เดินเข้าออก สมควรแก่การทำกรรมอันเร้นลับแห่งมนุษย์ สมควรแก่การหลีก เร้น เหมือนพระผู้มีพระภาคในบัดนี้ อย่างนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรนิโครธะ ท่านแลเป็นผู้รู้ เป็นผู้แก่ ไม่ได้ดำริว่า พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นพระพุทธะ ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ฝึกแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้สงบระงับแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบระงับ พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ข้ามได้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความข้าม พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นผู้ดับแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับ ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลงไม่ฉลาด จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงรับทราบความผิดของข้าพระองค์นั้นโดยเป็นความผิดเพื่อสำรวมต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า จริง จริง นิโครธะ ความผิดได้ครอบงำท่านซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด จึงได้กล่าวกะเราอย่างนี้ เราขอรับทราบความผิดของท่าน เพราะท่านได้เห็นความผิดโดยเป็นความผิดแล้วสารภาพตามเป็นจริง ก็การที่บุคคลเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริง แล้วสารภาพตามเป็นจริง รับสังวรต่อไปนี้ เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้าแล ดูกรนิโครธะ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ตลอดเจ็ดปี ดูกรนิโครธะ เจ็ดปีจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดหกปี … ห้าปี … สี่ปี … สามปี … สองปี … ปีหนึ่ง ดูกรนิโครธะ ปีหนึ่ง จงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นตามคำสั่งสอนจักทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดเจ็ดเดือน ดูกรนิโครธะ เจ็ดเดือนจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดหกเดือน … ห้าเดือน … สี่เดือน … สามเดือน … สองเดือน … เดือนหนึ่ง … กึ่งเดือน ดูกรนิโครธะ กึ่งเดือนจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา มีชาติตรงจงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคำสั่งสอน จักทำให้แจ้งประโยชน์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตโดยชอบ ต้องการอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ตลอดเจ็ดวัน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนี้ ผู้ใดเป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างนี้ ผู้นั้นแหละจงเป็นอาจารย์ของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุเทศ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุเทศใดของท่านได้อย่างนี้ อุเทศนั้นแหละจงเป็นอุเทศของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีวะ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็อาชีวะของท่านนั้นแหละ จงเป็นอาชีวะของท่าน ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมเหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนอกุศลของท่านกับอาจารย์ ดูกรนิโครธะ แต่บางทีท่านจะพึงดำริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมเหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนกุศลของท่านกับอาจารย์ ดูกรนิโครธะ ด้วยประการดังนี้แล เรากล่าวอย่างนี้เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก หามิได้ เราปรารถนาจะให้ท่านเคลื่อนจากอุเทศ จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ปรารถนาจะให้เคลื่อนจากอาชีวะ จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ปรารถนาจะให้ท่านกับอาจารย์ห่างจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็ไม่ใช่ ดูกรนิโครธะ ก็อกุศลธรรม อันเป็นเครื่องเศร้าหมอง มีปรกติทำภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผลเป็นปัจจัยแห่งชาติ ชรามรณะต่อไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้ มีอยู่ ที่เราจะแสดงธรรมเพื่อละเสีย ธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมอง อันท่านปฏิบัติแล้วอย่างไร จักละได้ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความผ่องแผ้ว จักเจริญยิ่ง ท่านจักทำให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์แห่งมรรคปัญญาและความไพบูลย์แห่งผลปัญญา ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นิ่ง เก้อ เขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ เหมือนถูกมารดลใจ ฉะนั้น ฯ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า พวกโมฆบุรุษเหล่านี้แม้ทั้งหมดถูกมารดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่งไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจะพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง เจ็ดวันจักทำอะไร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบันลือสีหนาทในปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส์ ปรากฏอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ สันธานคฤหบดีเข้าไปสู่พระนครราชคฤห์ในขณะนั้นเอง ดังนี้แล ฯ
จบ อุทุมพริกสูตร ที่ ๒