มัชฌิมนิกาย

อุปธิปัณณาสก์

วิภังควรรค

๔. โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ครั้งนั้นแลล่วงปฐมยามไปแล้ว จันทนเทวบุตรมีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้สว่างทั่ว เข้าไปหาท่านพระโลมสกังคิยะยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

จันทนเทวบุตรพอยืนเรียบร้อยแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระโลมสกังคิยะดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ฯ

ท่านพระโลมสังกังคิยะกล่าวว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ

จ. ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้ และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญ ได้ไหม ฯ

โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ ฯ

จ. ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ ฯ

โล. ดูกรท่านผู้มีอายุ ก็ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า ฯ

จ. ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้อย่างนี้แล ขอท่านจงร่ำเรียนและทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุรุษผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ จันทนเทวบุตรกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระโลมสกังคิยะ พอล่วงราตรีนั้นไปแล้วจึงเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรมุ่งจาริกไปยังพระนครสาวัตถี เมื่อจาริกไปโดยลำดับถึงพระนครสาวัตถี ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยหนึ่งข้าพระองค์อยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ขณะนั้น ล่วงปฐมยามไปแล้วเทวบุตรตนหนึ่ง มีรัศมีงามยิ่ง ส่องพระวิหารนิโครธารามให้สว่างทั่ว เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่ แล้วได้ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอยืนเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ดังนี้ว่า ดูกรภิกษุ ท่านทรงจำอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเทวบุตรนั้นกล่าวแล้วอย่างนี้ ข้าพระองค์ได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นดังนี้ว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ แม้ข้าพเจ้าก็ทรงจำไม่ได้และท่านทรงจำคาถาแสดงราตรีหนึ่งเจริญได้ไหม ข้าพระองค์ตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ เราทรงจำไม่ได้ ก็ท่านทรงจำได้หรือ เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำได้ ข้าพระองค์ถามว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ ท่านทรงจำได้อย่างไรเล่า เทวบุตรนั้นกล่าวว่า ดูกรภิกษุ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ที่ควงไม้ปาริจฉัตตกะ ในหมู่เทวดาชั้นดาวดึงส์ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอุเทศและวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่เทวดาชั้นดาวดึงส์ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

ดูกรภิกษุ ข้าพเจ้าทรงจำคาถาแสดงราตรีเจริญได้อย่างนี้แล ท่านจงร่ำเรียนและทรงจำอุเทศและ วิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญเถิด เพราะอุเทศและ วิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวบุตรนั้นกล่าวดังนี้แล้ว จึงหายไป ณ ที่นั้นเอง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดแสดงอุเทศ และวิภังค์ของบุคคลผู้มีราตรีหนึ่งเจริญแก่ข้าพระองค์เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ก็เธอรู้จักเทวดานั้นหรือไม่ ฯ

ท่านพระโลมสกังคิยะกราบทูลว่า ไม่รู้จักเลย พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุ เทวบุตรนั้นชื่อว่าจันทนะ จันทนเทวบุตรย่อมมุ่งประโยชน์ใส่ใจ เอาใจ ฝักใฝ่สิ่งทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม ดูกรภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่าชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติเป็นอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้วได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้วอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า เราได้มีรูปอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้วได้มีเวทนาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสัญญาอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีสังขารอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ได้มีวิญญาณอย่างนี้ในกาลที่ล่วงแล้ว ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่ามุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลจะไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึงอย่างไร คือ ไม่รำพึงถึงความเพลิดเพลินในเรื่องนั้นๆ ว่า ขอเราพึงมีรูปอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีเวทนาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสัญญาอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีสังขารอย่างนี้ในกาลอนาคต พึงมีวิญญาณอย่างนี้ในกาลอนาคต ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าไม่มุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้วในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้างเล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมเล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมเล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่าง่อนแง่นในธรรมปัจจุบัน ฯ

ดูกรภิกษุ ก็บุคคลย่อมไม่ง่อนแง่นในธรรมปัจจุบันอย่างไร คือ อริยสาวกผู้ สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูปโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูปบ้าง ไม่เล็งเห็นรูปในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูปบ้าง ย่อมไม่เล็งเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตาบ้าง ฯลฯ ย่อมไม่เล็งเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นวิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในวิญญาณบ้าง ดูกรภิกษุ อย่างนี้แลชื่อว่าไม่ง่อนแง่นในธรรม ปัจจุบัน ฯ

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ฯลฯ
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคล ... นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ท่านพระโลมสกังคิยะจึงชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

จบ โลมสกังคิยภัทเทกรัตตสูตร ที่ ๔