สังยุตตนิกาย

มหาวารวรรค

๓. สติปัฏฐานสังยุต

อัมพปาลีวรรคที่ ๑

สูทสูตร

ว่าด้วยการสำเหนียกและไม่สำเหนียกนิมิต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวนั้นไม่สังเกตรสอาหารของตนว่าวันนี้ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสเปรี้ยวจัด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด … มีรสเผ็ดจัด … มีรสหวานจัด … มีรสเฝื่อน … มีรสไม่เฝื่อน … มีรสเค็ม … วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้ พ่อครัวนั้นย่อมไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สังเกตเครื่องหมายอาหารของตน ฉันใด

ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมไม่ตั้งมั่น ยังละอุปกิเลสไม่ได้ เธอไม่สำเหนียกนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่ได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และไม่ได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาดเฉียบแหลม ไม่สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพ่อครัวผู้มีปัญญาฉลาด เฉียบแหลม บำรุงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยสูปะต่างชนิด มีรสเปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง มีรสเฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง มีรสเค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวนั้นย่อมสังเกตรสอาหารของตนว่า วันนี้ภัตและสูปะของเราชนิดนี้ ท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะนี้ หรือหยิบเอาสูปะนี้มาก หรือท่านชมสูปะนี้ วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสเปรี้ยวจัด … วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสขมจัด … มีรสเผ็ดจัด … มีรสหวานจัด … มีรสเฝื่อน … มีรสไม่เฝื่อน … มีรสเค็ม … วันนี้ภัตและสูปะของเรามีรสจืดท่านชอบใจ หรือท่านรับสูปะมีรสจืด หรือท่านหยิบเอาสูปะมีรสจืดมาก หรือท่านชมสูปะมีรสจืด ดังนี้ พ่อครัวนั้นย่อมได้เครื่องนุ่งห่ม ได้ค่าจ้าง ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนมีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม สังเกตรสอาหารของตนฉันใด.

ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกนิมิตนั้น ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ … ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละอุปกิเลสได้ เธอย่อมสำเหนียกในนิมิตนั้น ภิกษุนั้นย่อมได้ธรรมเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันและได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้มีปัญญา ฉลาด เฉียบแหลม สำเหนียกนิมิตแห่งจิตของตน.

จบ สูตรที่ ๘